วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ต้อง"เชื่อ"ก่อนที่จะทำได้ เคล็ดลับเรียนดี

ความขี้หลงขี้ลืมมักเกิดขึ้นได้เสมอ ๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเกิดขึ้นกับเรื่องที่เราไม่ค่อยสนใจสักเท่าไร เราก็มักจะไม่ค่อยใส่ใจกับมันมากนัก ในเรื่องของการเรียนก็เช่นกัน การจะจำบทเรียนได้ไม่ใช่เรื่องยากเลย หากเรามีความเชื่อว่าเราจำได้ และตั้งใจจำสิ่งนั้น ๆ จริง ๆ



การปลูกฝังความเชื่อในเรื่องที่ว่าตนต้องจำให้ได้ นั้นเพราะเด็กที่อยู่ในวัยเรียนส่วนใหญ่มักจะดูถูกความจำของตนเอง ว่ามันแย่มาก ขี้ลืมซะเหลือเกิน การดูถูกตัวเองแบบนี้ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ เพราะฉะนั้นต้องบอกตัวเองเสียใหม่ ว่าฉันต้องจำให้ได้ เมื่อบอกตัวเองอย่างนี้แล้วความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เมื่อเราเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองแล้วถึงเวลาที่เราจะตั้งใจที่จะเอาจริงเอาจังเสียที หลายคยคงไม่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำว่า ทำไมเนื้อเพลง หรือละครทีวี เราจำได้ ร้องเพลงได้ หรือเด็กบางคนจำชื่อตัวละครได้ แต่กลับจำคำศัพท์ หรือ บทเรียนไม่ได้ ซึ่งสาเหตุสำคัญก็มาจากความไม่สนใจ และไม่ตั้งใจที่จะจำเนื้อหาบทเรียนนั่นเอง

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การอ่านเพื่อการสอบ เคล็ดลับเรียนดี

การเรียนที่โรงเรียนนั้นในแต่ละระดับชั้นก็เรียนกันตั้ง 9-10 วิชา แต่เวลาสอบกลับสอบวันละ 3-4 วิชา ซึ่งนับว่าค่อนข้างหนัก และเรื่องการอ่านหนังสือสอบไม่ทันก็จะเป็นปัญหาตามมาอย่างแน่นอน

ความจริงแล้วการอ่านหนังสือให้ทันและไม่ให้ลืมที่อ่านไป ก่อนวันสอบไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องมีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยให้อ่านทันและจำได้



การวางแผนอ่านหนังสือสอบส่วนใหญ่ก็จะเอาจริงเอาจังกันตอนตารางสอบประกาศออกมานั่นแหละ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่สายเกินไป เพราะเมื่อรู้ตารางสอบแล้วก็เริ่มจากดูตารางสอบเลยว่าแต่ละวันสอบอะไรบ้าง สอบกี่วัน วิชาไหนสอบก่อน สอบหลัง เมื่อดูเสร็จแล้วก็เริ่มจัดอันดับการอ่านหนังสือ โดยเคล็ดลับอยู่ที่การดูว่าวิชาไหนสอบสุดท้ายให้อ่านวิชานั้นก่อนวิชาอื่น ๆ จากนั้นอ่านไล่จากท้ายมาจนถึงวิชาแรก ซึ่งพอไกลวันสอบจริงของวิชาแรกพอดี แล้วความจำก็จะสดพอ



จากนั้นรอบสองก็อ่านตามลำดับ คืออ่านวิชาแรก จนสุดท้ายก็จะสอบเสร็จพอดี การอ่านเช่นนี้จะช่วยให้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นมีคุณค่า และความจำก็สดใส ผลสอบก็ดีตามมาแน่นอน เคล็ดลับง่าย ๆ ของการดูหนังสือสอบดีคงไม่ยากเกินไปอย่างแน่นอน


วันพุธที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การจดบันทึกช่วยได้มาก เคล็ดลับเรียนดี

มีผู้เชียวชาญหลายคนค้นพบว่าความจำของเราทุกคน ถูกรบกวนด้วยคลื่นรบกวนอยู่ตลอดเวลา และจากการวิจัยเด็กในวัยเรียนพบว่าเด็กในชั้นเรียนนั้นสามารถจดจำสิ่งที่ครูสอนในชั่วโมงนั้น ๆ ได้ถึง 50 % ของรายละเอียดทั้งหมด



แต่เมื่อใดก็ตามที่เรียนวิชาต่อไป ความจำเนื้อหาวิชาแรกจะลดลง 30 % ซึ่งจะจำได้เพียง 20 % เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าการเรียนวิชาที่ไกล้เคียงกันอย่าง สังคม และภาษาไทย ความจำจะลดลงมากกว่าการเรียนวิชาที่ต่างกันเช่น ภาษาไทย และคณิตศาสตร์

ดังนั้นจากข้อมูลข้างต้นเราจะเห็นว่าสมองและหน่วยความจำของเรามีข้อจำกัด และถูกรบกวนจากสิ่งรอบข้างอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการที่จะจำสิ่งที่ครู อาจารย์สอนและบอกแต่เพียงอย่างเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่นานเราจะลืมรายละเอียดต่าง ๆ ไปในที่สุด

สิ่งที่ช่วยแก้ไข และลดปัญหาในเรื่องของความจำของเราได้คือการจดบันทึก การจดบันทึกช่วยให้เราได้ทบทวนบทเรียนที่เคยเรียนไปแล้วได้เป็นอย่างดี เพราะเมื่อเราเปิดอ่าน เราจะรู้สึกได้ว่าทบทวนและเรียนในชั้นเรียนในวันนั้น ๆ อีกครั้ง


จัดระเบียบให้ตัวเอง

การมีระเบียบในตัวเองฟังดูแล้วจะต้องทำตัวตามกฏและค่อนข้างจะอึดอัด เพราะเห็นว่าต้องอาศัยกฏเกณฑ์ต่าง ๆ และต้องทำตามกฏเกณฑ์นั้น ๆ อยู่เสมอ แต่ความมีระเบียบในที่นี้คือการวางแผนและทำเรื่องการเรียนให้เป็นระเบียบ ซึ่งช่วยให้เป็นคนเก่งได้ไม่ยากเลย



การมีระเบียบเริ่มจากการเก็บให้เป็นที่ ตำราเรียนต้องแบ่งออกเป็นแต่ละวิชาให้ชัดเจน สะดวกต่อการค้นหา การหยิบขึ้นมาอ่าน หรือการค้นคว้าต่าง ๆ เช่น วิชาคณติศาสตร์ ต้องมีแบบฝึกหัด แบบเรียน หรือคู่มือสูตรต่าง ๆ ก็เก็บไว้ใกล้ ๆ กัน ไม่เก็บรวมกันทุกวิชา หาที่คั่นหนังสือมาวางให้เรียบร้อย เราก็ไม่อยากจะหาหนังสือมาอ่าน ดังนั้นควรเริ่มเก็บหนังสือ และแบบเรียนต่าง ๆ ให้เป็นสัดส่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ได้อีกทางหนึ่ง



ทางที่ดีก็คือการจดบันทึก 1 วิชา ต่อ 1 เล่มเท่านั้น และนอกจากนี้จะต้องพยายามจดให้เป็นระเบียบ มีประเด็น มีหัวข้อ เพื่อจะง่ายแก่การจดจำ หลายคนลายมือไม่สวย เขียนแล้วดูยุ่ง อ่านไม่ออก แต่ถ้าเราจดให้มันเป็นระเบียบไม่เป็นพรืดไปหมด เราก็ย่อมอ่านลายมือของตัวเองออกอยู่แล้ว

แลกเปลี่ยนความรู้



ความถนัดและความชอบของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เรามักจะหาความรู้ส่วนที่เราขาดเพื่อทดแทนให้มากขึ้นเสมอ ความจริงแล้วในเรื่องของการเรียนนั้น การแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ต่อกันถือเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ และหากเกิดขึ้นแล้วก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของเรามากขึ้นด้วย โดยไม่ต้องพึ่งสถาบันกวดวิชาที่ไหนเลย

การแลกเปลี่ยนความคิดที่ว่านี้คือการติวหรือทบทวนความรู้กันนั่นเอง โดยเพื่อนของเราเอง ที่จะช่วยแสดงหรือเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์แก่กันและกันได้ การแลกเปลี่ยนความคิดเริ่มจาก หาความถนัดของแต่ละคน คนหนึ่งก็วิชาคณิตศาสตร์ อีกคนวิชาภาษาอังกฤษ คนต่อไปวิชาสังคมเป็นต้น จากนั้นก็เริ่มติวกันคนละวิชา การแลกเปลี่ยนความรู้เช่นนี้จะทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น เพราะจะเกิดคำถามและแก้ไขให้เข้าใจตามมานั่นเอง

วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สละความบันเทิง ความสนุก ลงบ้าง

ในช่วงวัยรุ่น วัยเรียน ความบันเทิง ความสนุกสนานเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการอย่างมาก บางคนติดเกมส์ ติดเพลงจนลืมการเรียน และก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเรียนตกต่ำลงเรื่อย ๆ





ถ้าเราเองรู้ตัวว่าเราติดตามความบันเทิงเหล่านี้จนเบื่อการเรียน แต่ก็อยากที่จะพัฒนาตัวเองให้เรียนดีขึ้น เราต้องสละเวลาแห่งความสนุกเหล่านั้นลงไปบ้าง และหันมาให้ความสำคัญต่อการเรียนมากขึ้น ก็น่าจะดี

เด็กที่มีผลการเรียนดีส่วนใหญ่จะใช้เวลากับการเรียนมาากกว่าเรื่องอื่น ๆ แต่เขาก็มักจะจัดเวลาเล่นไว้พักผ่อนความตึงเครียดจากการเรียนไปพร้อม ๆ กันเสมอ

อาหาร 3 มื้อที่ขาดไม่ได้

ในวัยเรียนเป็นวัยที่ต้องการใช้พลังกาย กำลังใจ และพลังสมองเป็นอย่างมาก ดังนั้นการกินอาหารที่ครบ 5 หมู่ และครบทั้งสามมื้อก็นับเป็นสิ่งที่สำคัญในการพัฒนาความรู้ให้ก้าวไกลได้อีกด้วย



ช่วงที่พ่อแม่ต้องทำงานและเร่งรีบกับการงาน เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ก็ต้องออกจากบ้านแต่เช้าพร้อมพ่อแม่ เพื่อหนีปัญหารถติดและการทำเช่นนี้เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะต้องงดอาหารเช้า เพราะไม่ทันเวลา ส่วนเด็กที่เล็กหน่อย ก็ต้องกินข้าวในรถ

ทางการแพทย์บอกว่าอาหารมื้อเช้าสำคัญที่สุด อาหารมื้อเช้าจะกระตุ้นสมองที่อดอาหารมาทั้งคืนให้กระปรี้กระเปร่าพร้อมที่จะทำงานตลอดช่วงเวลาของวันใหม่ แต่หากเรางดอาหารมื้อเช้านี่เท่ากับว่าการเรียนในช่วงเช้าของเราขาดประสิทธิภาพ เพราะสมองเราขาดการบำรุง

เวลาเรียนต้องตั้งใจ

การเข้าไปเรียนในห้องเรียนตามแผนการเรียนของครูและตารางสอน เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะสร้างความเข้าใจในบทเรียน เพราะห้องเรียนเป็นสิ่งเปิดความรู้สู่สมอง สร้างสติปัญญาให้คิดให้ทำแต่สิ่งที่ดี และเป็นประโยชน์



บางคนไม่ชอบเข้าเรียน หรือเข้าเรียนแต่ไม่ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ คิดหวังพึ่งร้านถ่ายเอกสารแต่เพียงอย่างเดียว ก็คงไม่ดีต่อชีวิตทางการศึกษา เพราะเท่ากับว่าการเข้าเรียนเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์ การศึกษาเป็นเรื่องที่ผิดหวังไปเลย

หากเข้าเรียนและตั้งใจเต็มที่ นอกจากจะไม่ต้องอ่านหนังสือรีบ ๆ และปริมาณมาก ๆ แล้วยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าคุณพ่อ คุณแม่ ที่ต้องจ่ายไปกับสถาบันกวดวิชาต่าง ๆ จำนวนมาก ๆ ด้วย




ในเรื่องของการเรียนนั้น อาจารย์หรือครูที่สอนก็จะสอนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว หากนักเรียนในชั้นเรียนตั้งใจเรียน สงสัยก็ถามออกมามันน่าจะเป็นการเรียนอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องไปหาเรียนที่อื่นหรือทบทวนบทเรียนมากมาย ความตั้งใจเรียนขณะที่อยู่ในห้องจึงเป็นโอกาสดีที่สร้างผลการเรียนเป็นที่น่าพอใจให้กับตนเองได้

เลือกให้เหมาะกับตัวเอง

การเรียนให้เก่งให้ดีนั้น เราอาจจะมุ่งไปในทางที่ไม่เหมือนกับคนอื่นได้ แต่ขอให้เรียนทางที่เราถนัด และเหมาะสมกับตัวเองก็เพียงพอแล้ว



บางคนตั้งเป้าหมายในชีวิตอยากเรียนหมอ เพราะถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก และค่านิยมว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ และมีแต่คนที่ยกย่องส่งเสริม แต่ความจริงแล้วไม่ชอบวิชาชีววิทยา ทั้ง ๆ ที่เป็นวิชาสำคัญของหมอเลยทีเดียว และจริง ๆ ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ชอบคำนวน ดังนั้นควรเลือกเรียนบริหาร หรือบัญชีมากกว่าแพทย์ เป็นต้น

เมื่อเราเลือกทางที่เราถนัด เราสามารถทำให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ เราก็จะชอบ และทำในสิ่งที่ชอบด้วยความสุข แล้วความสำเร็จก็ย่อมตามมาแน่นอน

ตัวเราเองเป็นคนกำหนดทางเดิน และความชอบ หรือความสนใจ การเลือกทางที่ดีที่สุดให้ตัวเอง แล้วเรื่องผลการเรียนที่น่าพอใจก็จะตามมาอย่างแน่นอน

วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ศึกษาคอนเซ็ปต์ของแต่ละวิชา

ความถนัดของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และนั่นก๋ไม่แตกต่างอะไรกับการที่คนหนึ่งอาจจะถนัดวิชาคณิตศาสตร์แต่อีกคนอาจจะถนัดวิชาภาษาไทย เพราะว่าทักษะและความสนใจของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคนที่เรียนดีทุกวิชาเขาย่อมมีเคล็ดลับอย่างแน่นอน



เหมือนกับว่าหาแนวคิดหรือคอนเซ็บต์ของแต่ละวิชา การจะเรียนให้ดีได้ทุกวิชานั้นเราต้องเข้าใจเนื้อหาของแต่ละวิชาก่อนว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร จุดประสงค์ของการเรียนวิชาต่าง ๆ เหล่านี้เพื่ออะไร เมื่อเข้าใจเรื่องของแต่ละวิชาแล้ว การจะเรียนให้ดีหรือประสบความสำเร็จนั้นไม่ยากเลย



หลังจากที่เรารู้ว่าแต่ละวิชาต้องเรียน ต้องอ่านอย่างไร ก็ต้องเริ่มวางแผนและลงมือศึกษาเนื้อหา และเตรียมตัวทันที อย่างวิชาคณิตศาสตร์เป็นเรื่องของการคำนวณ แน่นอนว่าการฝึกการทำข้อสอบ แก้โจทย์ ทำแบบฝึกหัดยิ่งมาก ยิ่งเป็นผลดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ต้องฝึกทักษะทางความคิดตลอดเวลา แต่ก็มีคนแนะนำว่าไม่ควรฝึกทำเกินวันละ 2 ชั่วโมง เพราะจะทำให้สมองเราล้าเกินไป

วิชาภาษาอังกฤษนอกจากจะเรียนรู้หลักภาษาแล้ว การท่องจำคำศัพท์ก็คือเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนวิชานี้เลยทีเดียว ซึ่งเราต้องจำศัพท์ของแต่ละบทเรียนให้ได้

วิชาภาษาไทย และสังคม วิชาเหล่านี้ต้องมีเนื้อหามากที่จำเป็นต้องท่องจำ แต่การท่องจำได้ต้องทำความเข้าใจและจินตนาการ ตามตัวหนังสือ เช่น การเสียกรุงศรี ครั้งที่ 2 ในวิชาสังคมศึกษา เราต้องพยายามทำความเข้าใจและลำดับเหตุการก่อน เป็นต้น

หรือบางวิชาเช่น การเรียนหรือการใช้ภาษาไทย วิชาเหล่านี้ต้องอาศัยการฝึกตัวเอง โดยเริ่มจากการอ่านมาก ๆ โลกทัศน์จะได้กว้างและการฝึกเขียนมาก ๆ เพื่อแสดงออกทางความคิดของตนเอง

การสะสมความรู้

"ไฟลนก้น" เป็นสำนวนที่บอกถึงอาการรีบร้อนได้เป็นอย่างดี และเรามักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ การเรียนไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การทบทวนบทเรียน หรือการทำการบ้าน งานที่ได้รับมอบหมาย เรามักจะทำเอาตอนที่ใกล้ถึงเวลา เช่น อาจารย์มอบหมายงานเขียนเรื่องหนึ่งนัดส่งวันอังคารที่ 21 กันยายน แต่เรามักจะใช้เวลาก่อนหน้านี้แบบเสียประโยชน์ และมาลงมือทำอย่างจริงจัง ก็คือวันที่ 20 กันยายน คืนก่อนส่งงานนี่แหละ



การทำเช่นนี้นอกจากจะไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จทางการเรียนแล้ว เราก็จะเป็นคนที่ทำอะไรลวก ๆ ขาดคุณภาพ เพระาเราไม่มีเวลาและรีบทำงานให้เสร็จ ๆ เท่านั้น การทบทวน กลั่นกรองก็จะตกหล่นไปแน่นอน ทางที่ดีที่สุดนอกจากจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมายแล้ว เราจะต้องไม่รอเวลา หรือผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะผลตอบกลับมาย่อมไม่เกิดผลประโยชน์อย่างแน่นอน

สถานที่ที่เสริมความรู้

สถานที่ในที่นี้คงไม่ต้องพูดถึงชั้นเรียน เพราะทางโรงเรียนส่วนใหญ่จะจัดสถานที่ให้เหมาะสมกับการเรียนอยู่แล้ว แต่สถานที่ของการเรียนรู้ นั่นคือ บ้าน หอพัก หรือที่ที่เราต้องอ่านหนังสือ



เราต้องดูทุกอย่างให้พร้อมให้เรียบร้อย เพื่อจะได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ อากาศและบรรยากาศต้องดี อากาศที่ว่าต้องมีการถ่ายเทที่สะดวก ไม่อึดอัด ทึบ จนหงุดหงิดอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง ส่วนบรรยากาศต้องเงียบ ไม่พลุกพล่าน ซึ่งต้องเป็นที่ ๆ ทำให้เกิดสมาธิได้นั่นเอง

แสงสว่าง เรื่องของแสงสว่างนี้สำคัญ เพราะหาไม่พอต้องเพ่งตัวหนังสือจนสายตาเสีย หรือจ้าเกินไปก็แสบตา แสงสว่างนี้ถ้าน้อยไปก็จะทำให้เราเกิดอาการง่วงนอนตลอดเวลา และผลจะเป็นว่าหนังสืออ่านเรา มากกว่าเราอ่านหนังสือ

โต๊ะและเก้าอี้ ระดับของหนังสือต้องพอดีกับสายตา ไม่ต่ำมากจนต้องก้ม เพราะจะปวดหลัง เก้าอี้ต้องนั่งสบาย และท่านั่งต้องหลังตรง เพราะการนั่งตัวตรงเกิดสมาธิได้ง่าย

สุขภาพที่ส่งเสริมการศึกษา

"การที่สมองจะพัฒนาย่อมีร่างกายที่ดีก่อน" คำพูดนี้เป็นจริงอย่างที่สุด จะเห็นได้จากเด็กที่เรียนดี มักจะมีและสุขภาพใจที่ดี นั่นหมายถึงความพร้อมที่จะคิดจะอ่าน จะเรียน หรือจะพูด จะทำในสิ่งที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด



หากเราป่วย หรือร่างกายที่ค่อนข้างอ่อนแอ สมองของเราก็ย่อมจะคิดไม่ออก หยุดชะงัก ไม่ลื่นใหลอย่างแน่นอน เล่นกีฬา ตลอดจนดูแลรักษาร่างกายไม่ให้อ่อนเพลีย อย่างการหักโหมการเรียน หรือ อ่านหนังสือหนักเกินไป ก็ช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์พร้อมจะรัยสถานะการณ์ หรือการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิ์ภาพมากยิ่งขึ้น

วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ถามเลยแล้วจะจำแม่น

ไม่ว่าเราจะเก่งสักแค่ไหน ย่อมมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้ิ คำถามก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ และการเป็นคนเก่งของเรานั่นเอง



ส่วนใหญ่แล้วเวลาที่เรานั่งเรียนอยู่ บทเรียนบางบท จุดบางจุดเราก็ไม่เข้าใจ ก็ย่อมมี แต่เรามักจะปล่อยให้มันผ่านไปด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการด้วยกัน

1. กลัวที่จะถาม
ความกลัวที่ว่าเกิดจากความไม่กล้า พอเห็นเพื่อไม่คัดค้าน ไม่สงสัยเราก็ปล่อยเลยตามเลย ถามไปก็กลัวว่าจะถูกมองเป็นคนโง่ ง่าย ๆ ก็ไม่รู้ หรือบางทีก็กลัวว่า จะถามอะไรที่ไม่สร้างสรรค์ ไม่อยู่ในความสนใจของคนอื่น ความจริงแล้วสาเหตุนี้แก้ได้โดยการสร้างความกล้าให้ตัวเอง ลดความกลัวต่าง ๆ ให้หมด และคิดว่าถ้าไม่ถามเราก็ไม่มีทางเข้าใจได้เลย ต้องไม่กลัวที่จะรู้ เป็นสิ่งที่เราควรทำ



2. ยึดมั่นในศักดิ์ศรี
สาเหตุนี้มักเกิดขึ้นกับคนที่เรียนดีอยุ่แล้ว เพราะมันมักจะเป็นสิ่งที่เขาต้องรู้ แต่พอไม่รู้เขาก็ไม่กล้าแสดงออก เพราะกลัวว่าจะเสียฟอร์ม เสียศักดิ์ศรี ซึ่งอาจจะทำให้ความรู้ที่มีอยู่น้อยลงก็ว่าได้ ดังนั้นการเสียศักดิ์ศรี มีอิทธิพลต่อความรู้เรามาก และก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะตัดออกไป

คำถามที่เราถามนั้นจะสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น และส่งผลดีต่อการเรียนในอนาคต ส่วนใหญ่แล้วเราสามารถถามได้ทั้งครูขณะที่สอนในห้อง และข้างนอก ถามเพื่อนที่จะอธิบายให้เราได้ หรืออาจจะถามรุ่นพี่ที่เคยเรียนมาแล้วก็ได้

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อ่านหนังสือตอนเช้า เก็บข้อมูลเข้าสมอง

ช่วงเวลาของการอ่านหนังสือ ก็นับว่าเป็นเคล็ดลับการเรียนเก่งได้เหมือนกัน เพราะช่วงเวลาก็เป็นตัวกำหนดการเกิดสมาธิ และความจำของเราแต่ละคนนั่นเอง



ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะรีบทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือทบทวนบทเรียนก่อนเข้านอน ยิ่งไกล้สอบก็ยิ่งนอนตี 2 หรือเช้ามืด หรือบางคนอาจจะไม่นอนเอาซะเลย

ในช่วงหัวค่ำการอ่านหนังสือของเราอาจไม่ได้ผลดีนัก เพราะมักจะมีเสียงต่าง ๆ หรือกิจกรรมต่างมารบกวนสมาธิของเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพื่อน ครอบครัวคุยกัน หรือละครทีวี สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็ทำลายช่วงเวลาการอ่านหนังสือของเราได้มากทีเดียว



ความจริงแล้วช่วงเวลาที่สงบที่สุดของการอ่านหนังสือคือตอนเช้ามืดประมาณตี 3 ถึง ตี 5 ตอนนี้อากาศเย็นสบาย และเงียบสงบดีมาก ดังนั้นในช่วงเวลาตอนหัวค่ำ เราควรนอนให้มากที่สุด และตื่นขึ้นมาตอนช่วงเช้ามืดแทนการนอนดึก การอ่านหนังสือตอนนี้จะได้ผลมากกว่าช่วงหัวค่ำอย่างแน่นอน

เข้าเรียนทุกครั้งได้ผลดีแน่

การเข้าชั้นเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลต่อการเรียนของเราเมื่อเราเข้าเรียน แน่นอนว่าเราจะได้รับการถ่ายทอดความรุ็จากครูอาจารย์อย่างเต็มที่ เรียนทันเพื่อน และเข้าใจบทเรียนตามที่แผนการเรียนได้กำหนดไว้



จากบทสัมภาษณ์นักเรียนที่มีผลการเรียนดีเด่น ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ว่ามีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้พวกเขาเรียนเก่ง ประการแรกทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "ต้องเข้าเรียนทุกครั้ง ไม่โดดเรียน" เพราะการเข้าเรียนเป็นการเริ่มต้นการเรียนรุ้บทเรียน หรือบทความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เมื่อเราขาดเรียนครั้งใดครั้งหนึ่ง เท่ากับว่า้เราไม่ได้เรียนเรื่องนั้นไปเลย และหากจะตามเก็บรายละเอียดจากเพื่อนที่เข้าเรียนก็เป็นเรื่องยาก และไม่ครบถ้วนเหมือนอย่างที่เราเรียนเอง

บางคนคิดว่าน่าเบื่อ ไม่อยากเข้าเรียน โดดเรียนไปเที่ยวดีกว่า ถือว่าคิดผิดมาก ๆ และมักจะเป็นคนที่ไม่รุ้จักหน้าที่ของตนเอง บางคนเห็นว่าเข้าเรียนไปทำไม เข้าไปก็ไม่รู้เรื่อง แต่การที่เข้าเรียน คำถามของครู คำตอบของเพื่อนก็ยังผ่านหู และเราก็ยังได้รับรู้อะไรบางอย่างแน่นอน

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียน

การที่คนเราจะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้ดี หรือประสบความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่มักจะมาจากความชอบ ความอยากทำในเรื่องของการเรียนก็เช่นเดียวกัน การสร้างทัศนคติต่อการเรียน ก็นับเป็นการวางรากฐานที่สำคัญของการเรียนที่ประสบความสำเร็จ



เราเคยสังเกตตัวเองหรือไม่ว่า เรามักจะทำอะไรไม่ได้ดี หากเราไม่อยากทำสิ่งนั้น หรือเราเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องไม่ดี และก็น่าเบื่อสำหรับเรา

ความจริงแล้วการปลูกฝังทัศนะคติที่ดีต่อการเรียน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังมากันตั้งแต่ครอบครัว ซึ่งทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการเรียนมากยิ่งขึ้น เมื่อเราเห็นว่าการศึกษาดี เมื่อนั้นเราก็อยากเรียน และจะทำให้ได้ดี การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียน ทำได้แม้ว่าจะไม่ได้เริ่มจากครอบครัวก็ตาม นั่นคือการเริ่มสร้างเป้าหมายให้ให้กับตนเองและเห็นว่าการศึกษาทำให้เห็นเป้าหมาย นั่นก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราได้ทำในสิ่งที่ฝันได้แล้ว

ตัวอย่างของการที่เรามีทัศนคติไม่ดี เช่น เรื่องของสงคราม สงครามนำความเดือดร้อน ทุกข์ยาก และความพลัดพลากมาสู่ชีวิตของเรา คนเราจึงไม่ชอบ และรังเกียจสงคราม แต่หากเรามองการเรียนเป็นเรื่องน่าเกลียด น่าเบื่อ มีแต่เรื่องเลวร้ายแบบสงคราม อนาคตเราคงแย่ เพราะผลจากการเรียนและการทำสงครามแตกต่างกัน

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เรียนดีต้องมีเทคนิค

การเรียนหนังสือให้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องใช้ความสามารถที่พิเศษเหนือใคร ๆ เลย



คุณคงเคยเห็นเสมอว่าเพื่อนบางคนที่เรียนเก่ง เรียนดี นั้นไม่ใช่คนที่เรียนหนักเสมอไป เขาใช้เวลาว่างในตอนพักกลางวันมาเล่นกับคุณ เสาร์ - อาทิตย์เขาก็ไปดูหนัง ไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ต่างจากที่คุณทำหรอก

คนเรียนเก่งไม่ใช่คนที่ต้องใช้เวลาทุกเย็นหลังเลิกเรียน และวันหยุดหมดไปกับการขลุกอยู่ในโรงเรียนสอนพิเศษ คนที่อุทิศชีวิตให้กับการเรียนพิเศษอาจจะเรียนดีขึ้นได้ แต่นั่นไม่ได้เรียกว่า "ใช้เทคนิค" ในการเรียนให้ดีขึ้น

การมีเทคนิคในการเรียนคือ รู้เทคนิควิธีที่จะเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างง่าย ๆ และได้ผลดีจริง คนเราไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากมายขนาดนั้นให้ตัวเองเรียนดีขึ้น

คนที่ปรุงอาหารได้เอร็ดอร่อยไม่ใช่คนที่ผ่านการเรียนในโรงเรียนที่สอนทำอาหาร เขาเป็นแค่คนที่รู้จักเคล็ดลับในการทำอาหารและมีสูตรลับในการปรุงเท่านั้นเอง คนที่จบจากโรงเรียนสอนทำอาหาร มิใช่คนที่จะทำอาหารได้อร่อยเสมอไป

การใส่ใจในเรื่องเรียนพิเศษนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนการเรียนพิเศษจะกลายเป็นการเรียนที่ไม่พิเศษไปแล้ว เพราะนักเรียนนักศึกษาต่างใช้เวลามากมายเหลือเกินกับการไปเรียนพิเศษ จนเหมือนเป็นการไปเรียนอย่างปกติกับโรงเรียนแห่งที่สอง



ถ้าเราจัดกระบวนการเรียนรู้ของเราได้อย่างชาญฉลาด การเรียนในห้องนั้นก็เพียงพอแล้ว นักเรียนส่วนใหญ่ พ.ศ. นี้อ้างว่า คุณครู่ที่สอนในห้องเรียนไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จึงต้องไปเรียนพิเศษ แต่ที่จริงแล้วน่าจะอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า

ถ้าตัวเรามีทักษะในการเรียนที่ดี เราก็สามารถเรียนได้ดีโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ เลย เพียงแค่เริ่มต้นด้วยการปรับทัศนคติใหม่ สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเอง มองการเรียนว่าเป็นเรื่องไม่ยากเย็นอะไรสักนิด ตั้งใจอย่างมุ่งมั่นในความพยายามที่จะเพิ่มทักษะในการเรียนรุ้ของตนเอง แล้วสนุกกับการเรียนรู้ในแต่ละวิชา อย่าเรียนเพียงเพราะว่าต้องเรียนวิชานั้นวิชานี้ แต่ควรเรียนด้วยความต้องการอยากรุ้ว่าวิชานั้นวิชานี้ได้เนื้อหาข้อมูลอะไรแก่เราบ้าง